วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

มีดสองคมและเครื่องมือทางกฎหมาย

ไอทีในปัจจุบัน ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อคนในสังคม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา หรือแม้แต่ประเทศด้อยพัฒนา เพราะกิจกรรม หรือกิจวัตรต่าง ๆ ของคนเราในโลกปัจจุบันย่อมมีความเกี่ยวข้องกับไอทีต่าง ๆ อย่างมากมายจนแยกไม่ออก แต่ในขณะเดียวกัน ก็เปรียบเสมือนมีดสองคม ที่มีทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย
อินเตอร์เน็ต ในยุคที่เรียกว่ายุคของโลกที่ไร้พรมแดนนี้ อินเตอร์เน็ตเป็นได้และทำได้ในหลาย ๆ อย่าง แม้กระทั่งการสร้างคน ณ ที่นี้หมายถึง การก่อเกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จะทำให้มนุษย์ในสังคมโลกได้รับรู้ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนและรับเอามาใช้ มาปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อสังคม เมื่อมนุษย์เรา มีความรู้ ความสามารถ ประกอบกับความมีมนุษยธรรมอยู่ในตัวแล้ว แน่นอนว่าย่อมเป็นคนดีในสังคมและนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้เช่นกัน
แต่ทั้งนี้ ในขณะเดียวกัน เมื่อสื่อดังกล่าว เปรียบได้เหมือนมีดสองคม ย่อมที่จะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง อินเตอร์นอกจากจะสามารถสร้างคนตามความหมายข้างต้นได้แล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็สามารถทำลายชีวิตของหลาย ๆ คนได้เหมือนกัน
ณ วันนี้ อินเตอร์เน็ตเป็นเหมือนสื่อกลาง ที่เป็นสะพานคอยเชื่อมให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นในสังคม เพราะการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์อันควร ซึ่งจะเห็นได้จาก ข่าวต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้น โดยสะท้อนให้เห็นถึงความร้ายแรงจากการใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ควรของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตนั่นเอง
การที่ได้กล่าวว่า อินเตอร์เน็ต สามารถที่จะทำลายชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้นั้น หมายถึง ด้วยความสามารถอันยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งของอินเตอร์เน็ตที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารส่งถึงกันได้อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ทำให้ภาพ หรือข้อความ ฯลฯ ที่คน ๆ หนึ่งต้องการเผยแผ่ไปยังทั่วโลกนั่น สามารถทำได้ เพียงคลิกเดียว เช่น การเผยแพร่การตัดต่อภาพดารา วิดีโอหรือภาพแอบถ่าย เป็นต้น และนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ถือเป็นเครื่องมือในการแก้แค้น หรือความต้องการที่จะทำลายชื่อเสียง เกียรติยศ ภาพพจน์ ฯลฯ ซึ่งก็อาจส่งผลร้ายต่อเจ้าของภาพหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในภาพที่ถูกนำเผยแผ่ได้มากทีเดียว และบ่อยครั้งที่ระดับความรุนแรงหรือความเสียหายนั้นมากถึงความสูญเสียต่อชีวิต เพราะการที่ไม่สามารถทนอยู่และรับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ สุดท้ายก็จำต้องจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย
แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางของโลกไร้พรมแดนนี้ หลาย ๆ ประเทศ เช่น ประเทศไทยของเรา ก็มีเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ถือได้ว่า เป็นตัวที่สร้างความชอบธรรมหรือความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งก็คือเครื่องมือทางกฎหมาย ที่ได้คุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของบุคคลอื่นอันเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ในทางที่ผิดไว้ด้วย ซึ่งก็คือกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น
มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธ ีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย.
ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งในสังคมโลกของยุคไร้พรมแดนนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจ สนใจ ศึกษา และเรียนรู้อย่างมากในเรื่องของกฎหมายอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวันของเรา เพราะเราต้องมีความรู้ในส่วนนี้เพื่อรองรับหรือเตรียมพร้อมไปพร้อม ๆ กับความล้ำหน้าของคอมพิวเตอร์ หรืออินเตอร์ที่อาจจะกลายไปเป็นงูที่กลับมาฉกเราในอนาคตก็อาจเป็นได้.

นางสาวจุรีรัตน์ มูลเมือง
รหัส 4819098

ไม่มีความคิดเห็น: